โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร
โรคความดันโลหิตสูง หรือความดันเลือดสูง เป็นโรคเรื้อรัง และพบได้บ่อยในคนไทย สามารถตรวจได้ง่าย โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง เครื่องดังกล่าวจะแสดงค่า ความดันโลหิตสองตัว คือ ความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง ในคนปกติจะมีค่าความดันโลหิตไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดปกติ จะมีค่าความแตกต่างกัน ในแต่ละคนแต่ละอายุ
ถ้าอายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาต่างกันเช่น เมื่อมีอารมณ์เครียด ความดันเลือดอาจจะสูงขึ้นได้ คนปกติ ขณะพัก (จิตใจสงบ ไม่ได้ออกกำลังกายมาใหม่ ๆ ) จะมีค่าสูงสุดของความดันเลือดตามเกณฑ์อายุดังนี้
ในผู้ใหญ่ถ้าความดันเลือดสูงกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอท ควรนอนพัก 5-10 นาที แล้ววัดใหม่ ถ้าได้ค่าความดันเท่าเดิม หรือใกล้เคียงครั้งก่อน ถ้าสูงตลอดจึงถือว่า เป็นความดันเลือดสูงได้
เมื่อไหร่จึงเริ่มรักษา ?
โรคความดันโลหิตสูง ตรวจพบได้ง่าย รักษาไม่ยาก แต่ส่วนใหญ่ละเลยกัน คนทั่วไปเข้าใจว่า ถ้าป่วยเป็นโรคนี้ต้องปวดหัว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด โรคความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการ เมื่อไหร่ที่มีอาการเช่น ปวดหัว ก็จะพบว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงมานานแล้วหรือเป็นมากแล้ว
อาการความดันโลหิตสูง
- ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อาการที่พบได้ทั่วไปคือ
- ปวดศีรษะ มักปวดบริเวณท้ายทอย จะเป็นในช่วงเช้า พบใน คนที่มีอาการรุนแรง อาการนี้จะหายไปเองได้แต่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหนื่อยง่าย ความรู้สึกทางเพศลดลง
- เลือดกำเดาออก
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ตาพร่ามัว
สาเหตุของโรค
- ร้อยละ 85-90 ไม่ทราบสาเหตุ ที่เหลือเท่านั้นจึงทราบสาเหตุ อาจเกิดจาก
- โรคไต จะเป็นทั้งโรคไตอักเสบเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรัง
- โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตบางชนิด
- โรคครรภ์เป็นพิษ แต่เมื่อคลอดบุตรแล้ว ความดันโลหิตจะลดลง
- การใช้ยาสเตียรอยด์หรือสตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิด เมื่องดยาคุมกำเนิดแล้วก็จะเป็นปกติ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด หรือโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว
ข้อปฏิบัติตัว
- ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ดูแลน้ำหนัก ให้พอดี เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความดันโลหิตที่สูงขึ้น คนที่น้ำหนักตัวมาก (ถ้ามากเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น) ควรพยายามลดน้ำหนัก เพราะจะช่วยลดความดันลงได้ โดยใช้วิธีการควบคุมปริมาณอาหาร และหมั่นออกกำลังกายพอดีและเหมาะสม
ควรลดปริมาณแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่ง ฯลฯ โดยเริ่มฝึกจากวันละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มวันละ 2 นาทีทุกวัน จนครบ 30 นาที การวิ่งหรือออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ ไม่ควรออกกำลังกายประเภท ที่ต้องกลั้นหายใจและเบ่ง ยกน้ำหนัก ชักเย่อ วิดน้ำ
- งดเหล้าและบุหรี่
- หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้คุณหงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น
- ลดปริมาณไขมันในอาหาร ถ้ามีโรคเบาหวานต้องควบคุมและรักษาเบาหวานให้ดี
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยาด้วยตนเอง
- สำหรับผู้ป่วยที่กินยาขับปัสสาวะ ควรกินส้มหรือกล้วยเป็นประจำ เพื่อทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปในปัสสาวะ
ผู้ที่ป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนเองไม่ถูกต้อง จะมีผลกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้เช่น
- สมอง - เมื่อความดันโลหิตสูงมาก หลอดเลือดในสมองก็ตีบตันหรือแตกได้ง่าย ทำให้ตกเลือดในสมองได้ง่าย และบ่อยกว่าคนปกติ ทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ถ้าความดันสูงมาก ๆ ในทันที อาจจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะ ไม่รู้สึกตัวและชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตาย
- ตา - ทำให้ตามัวถึงตาบอดได้
- หัวใจ - เป็นผลให้หัวใจโต ถ้าเป็นมาก อาจถึงกับหัวใจล้มเหลว มีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจตายมากกว่าคนที่มีความดันปกติ